การสำรวจความปลอดภัยของถนนในเขตสถานศึกษา (กทม)

การสำรวจความปลอดภัยของถนนในเขตสถานศึกษา (กทม)

Safe Kids Thailand ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก (CSIP) ได้สำรวจความปลอดภัยของถนนในเขตสถานศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 219 โรงเรียน โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร (สพฐ) โดยผลการสำรวจมีดังต่อไปนี้

ข้อมูลการเดินทางไป-กลับบ้านและสถานศึกษา (จันทร์-ศุกร์) ของนักเรียนจำนวน 134,386 คน พบว่า ร้อยละ 33 เดินทางโดยรถจักรยานยนต์, ร้อยละ 28 เดินเท้าไป-กลับโรงเรียน, ร้อยละ 14 เดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถสองแถว รถตู้, ร้อยละ 10 เดินทางโดยรถรับ-ส่งนักเรียน และรถยนต์ส่วนตัว และร้อยละ 3 เดินทางโดยรถจักรยาน

“สัญลักษณ์จราจร” ในเขตสถานศึกษา พบว่า ร้อยละ 74 มีสัญลักษณ์เตือน “เขตสถานศึกษา” เช่น ป้ายเตือนเขตโรงเรียน, ร้อยละ 58 มีสัญลักษณ์เตือน “ทางข้ามคนเดินเท้า” เช่น ป้ายเตือนระวังคนข้ามถนน, ร้อยละ 24 มีสัญลักษณ์เตือน “จำกัดความเร็ว” เช่น ป้ายจำกัดความเร็ว และร้อยละ 68 ต้องการให้มี “สัญลักษณ์จราจร” เพิ่มเติมในเขตสถานศึกษา

“ทางเท้า” ในเขตสถานศึกษา พบว่า ร้อยละ 56 มีทางเท้า, ร้อยละ 47 มีการแบ่งระหว่างถนนและทางเท้าชัดเจน, ร้อยละ 18 มีรั้วกั้นระหว่างถนนและทางเท้า, ร้อยละ 20 ทางเท้ามีการแตกร้าว ชำรุด เสียหาย, ร้อยละ 28 มีสิ่งกีดขวางบนทางเท้า, ร้อยละ 11 มีหาบเร่ ร้านขายของบนทางเท้า และมีรถจักรยานยนต์ขับขี่บนทางเท้า, ร้อยละ 9 มีหาบเร่ ร้านขายของกีดขวางบริเวณประตูทางเข้า-ออกโรงเรียน และร้อยละ 6 เคยมีเด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บจากการเดินบนทางเท้าในเขตสถานศึกษา

“ทางข้าม” ในเขตสถานศึกษา พบว่า ร้อยละ 50 มีทางม้าลาย, ร้อยละ 17 มีสะพานลอย, ร้อยละ 59 มีทางข้ามถนนที่ปลอดภัย, ร้อยละ 20 มีสัญญาณไฟจราจร, ร้อยละ 66 รถจอดให้เด็กนักเรียนข้ามถนนทุกครั้ง, ร้อยละ 70 เด็กนักเรียนข้ามถนนได้ง่าย, ร้อยละ 63 มีเจ้าหน้าที่ เช่น ตำรวจ อาสาสมัคร ดูแลการข้ามถนนของเด็กนักเรียน ณ จุดทางข้ามในเวลาเข้าเรียน, ร้อยละ 58 มีเจ้าหน้าที่ (เช่น ตำรวจ อาสาสมัคร) ดูแลการข้ามถนนของเด็กนักเรียน ณ จุดทางข้ามในเวลาเลิกเรียน และร้อยละ 6 เคยมีเด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บจากการข้ามถนนตรงทางข้ามในเขตสถานศึกษา

จุดจอดรถรับ-ส่งนักเรียนในเขตสถานศึกษา พบว่า ร้อยละ 73 มีการจัดบริเวณจุดจอดรถรับ-ส่งที่ชัดเจน, ร้อยละ 77 ของจุดจอดรถรับ-ส่งมีความปลอดภัยสำหรับเด็กนักเรียน และร้อยละ 1 เคยมีเด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บตรงบริเวณจุดจอดรถรับ-ส่งนักเรียน

พฤติกรรมผู้ขับขี่ในเขตสถานศึกษา พบว่า ร้อยละ 10 มีรถยนต์จอดทับ จอดคร่อม จอดปิดกั้นทางม้าลายอยู่เสมอ, ร้อยละ 12 รถไม่ค่อยจอดหรือยอมให้เด็กเดินข้ามทางม้าลายหรือข้ามถนน และ ร้อยละ 32 รถส่วนใหญ่ใช้ความเร็วเกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง



 

Facebook Comments