กิจกรรม เดินกับหนูจะรู้ว่าเสี่ยง โรงเรียนวัดทองศาลางาม กทม. ( 12 ก.พ.2563 )

กิจกรรมInternational Walk to School Day: Walk to School Challenge เดินกับหนูจะรู้ว่าเสี่ยง 


Safe Kids Thailand ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ร่วมกับ Safe Kids Worldwide และ FedEx Express จัดกิจกรรม International Walk to School Day: Walk to School Challenge.. เดินกับหนูจะรู้ว่าเสี่ยง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563

ณ โรงเรียนวัดทองศาลางาม สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร

เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนโรงเรียนวัดทองศาลางาม ได้เรียกร้องให้ผู้ใหญ่ใจดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลเส้นทางเดินเท้าให้เด็กได้เดินทางไปโรงเรียนอย่างปลอดภัย โดยได้รับเกียรติจากท่านพันตำรวจโท รุ่งนิรันดร์ จันทรศิริ, สารวัตรป้องกันปราบปราม สน.ภาษีเจริญ (รักษาการรองผู้กำกับการ สน.ภาษีเจริญ) เป็นประธาน และมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 250 คน ประกอบด้วย

โรงเรียนวัดทองศาลางาม โดยคุณอมราวดี ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา, ผู้อำนวยการโรงเรียน พร้อมด้วยคณะครูและนักเรียน, เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ภาษีเจริญ โดย ร.ต.อ.รังสิมันตุ์ ห้วยหงส์ทอง, รองสารวัตรป้องกันปราบปราม, ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ แดงกลับ ตำแหน่งรองสารวัตรป้องกันปราบปราม และคณะ, สำนักเทศกิจสำนักงานเขตภาษีเจริญ โดยหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ และคณะ, วัดทองศาลางาม โดยท่านเจ้าอาวาส, บริษัท แกมม่า อินดัสตรี้ส์ จำกัด

โดยเจ้าหน้าที่ฝ่าย Safety, ผู้นำชุมชน, แกนนำผู้ปกครอง, ผู้ค้าขายในละแวกโรงเรียน และเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยอาสาสมัครจาก Safe Kids Thailand ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก


กิจกรรม Walk to School Challenge.. เดินกับหนูจะรู้ว่าเสี่ยง ได้ถูกออกแบบโดยเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดทองศาลางามร่วมกับทีม Safe Kids Thailand โดยมาจากแนวคิดที่ว่า ผู้ใหญ่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าในทุกวันที่เด็กเดินเท้ามาโรงเรียน ต้องผ่านอุปสรรคอะไรบ้างระหว่างทาง เด็ก ๆ

จึงขอชวนผู้ใหญ่ออกมาเดินท้าทายความเสี่ยงไปพร้อมกัน ผ่านด่านผจญภัยบนเส้นทางความเสี่ยงที่เด็กต้องพบเจอ โดยจำลองสถานการณ์จุดเสี่ยงในรูปแบบกิจกรรมผจญภัยง่าย ๆ สนุก แต่แฝงไว้ด้วยการสะท้อนปัญหาจริงที่เด็กต้องเผชิญจากการเดินเท้าไปกลับโรงเรียนทุกวัน เช่น ไม่มีทางเท้า ไม่มีทางข้ามถนน รถขับเร็ว

เริ่มต้นด้วยตัวแทนนักเรียน นำเสนอแผนที่จุดเสี่ยงรอบโรงเรียนวัดทองศาลางาม ดังนี้  


• จุดเสี่ยงที่ 1. “ไม่มีทางเท้าในเขตโรงเรียนและชุมชนที่ชัดเจน” มีเด็กจำนวนมากเดินเท้าไปกลับโรงเรียน แต่ไม่มีพื้นที่ทางเท้าที่ชัดเจนสำหรับเดิน เด็กจึงต้องใช้เส้นทางเดินร่วมกันกับรถ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกรถเฉี่ยวชน

• จุดเสี่ยงที่ 2. “ไม่มีสัญลักษณ์ความปลอดภัยในจุดทางโค้ง ทางแยก” มีเด็กจำนวนมากที่ต้องเดินเท้าในบริเวณที่มีทางแยก ทางโค้ง ที่ไม่มีป้ายหรือสัญลักษณ์ความปลอดภัย เช่น ป้ายเตือน ป้ายชะลอความเร็ว ลูกระนาด กระจกโค้ง สัญญาณไฟ ถึงแม้เด็กจะพยายามเดินอย่างระมัดระวังด้วยตนเอง แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ตลอดเวลา

• จุดเสี่ยงที่ 3. “เด็กใช้ทางเดินร่วมกับรถที่ขับเร็ว” ตลอดเส้นทางที่เดินมาโรงเรียน ไม่มีทางเท้าที่ชัดเจน เด็กต้องใช้ทางเดินร่วมกับรถที่ขับด้วยความเร็ว และไม่ชะลอความเร็วเมื่อขับผ่านเด็กที่กำลังเดินเท้า หรือหยุดรถให้เด็กที่กำลังจะข้ามถนน

หลังจากนำเสนอแผนที่จุดเสี่ยง เด็กได้จูงมือผู้ใหญ่ทุกท่าน ออกผจญภัยเดินสำรวจจุดเสี่ยงตามที่ระบุแผนที่จำนวน 3 สถานี ซึ่งในแต่ละสถานีจะมีตัวแทนเด็กเป็นผู้ดำเนินการหลัก ดังนี้


สถานีที่ 1 ท้าให้เดิน โดย ด.ช.พรรษา หอมสมบัติ (น้องขุน) ป.5/1

“สวัสดีครับ ผม ด.ช. พรรษา หอมสมบัติ ชั้น ป.5/1
ขอต้อนรับเข้าสู่สถานีที่ 1 ท้าให้เดิน ผมขอเชิญชวนผู้ใหญ่ใจดี ร่วมสนุกกับกิจกรรมในสถานีของเราครับ”
(น้องขุนขออาสาสมัครผู้ใหญ่ใจดีร่วมสนุก 3 ท่าน)

“กติกาของเกมนี้ คือ ให้ท่านเดินตามช่องที่กำหนดซึ่งจะมีสัญลักษณ์ของรูปเท้าปรากฏอยู่ให้ถูกต้อง ดูตัวอย่างจากผมนะครับ”
(น้องขุนเดินให้ดูเป็นตัวอย่าง 1 รอบ)

หลังจากเล่นครบ 3 คนแล้ว น้องขุนอธิบายความหมายของกิจกรรม
“สำหรับกิจกรรมนี้ ผมอยากสะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากในการเดินเท้าของเด็ก ๆ โรงเรียนวัดทองศาลางาม และเพื่อนนักเรียนในอีกหลายโรงเรียน ที่ไม่มีทางเท้าที่สะดวกสบายให้เดินอย่างปลอดภัย
ผมจึงอยากขอเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ใจดี ช่วยเพิ่มทางเท้าที่ปลอดภัยให้พวกเราด้วยนะครับ ขอบคุณครับ”


สถานีที่ 2 ทางโค้งซ่อนแอบ โดย ด.ญ.โสภิดา คชศิริพงษ์ (น้องเครป) ป.6/1

“สวัสดีค่ะ หนูชื่อ ด.ญ.โสภิดา คชศิริพงษ์ ชั้น ป.6/1

ขอต้อนรับเข้าสู่สถานีที่ 2 ทางโค้งซ่อนแอบ  หนูขอเชิญชวนผู้ใหญ่ใจดีทุกท่าน ร่วมสนุกกับกิจกรรมในสถานีของเราค่ะ”

(น้องเครปขออาสาสมัครผู้ใหญ่ใจดีร่วมสนุก 3 ท่าน)

“กติกาของเกมนี้ คือ ให้ท่านช่วยกันมองหาภาพปริศนาซึ่งถูกซ่อนอยู่รอบพื้นที่แห่งนี้ 5 ภาพค่ะ ถ้าพร้อมแล้วช่วยกันหาเลยค่ะ”

(น้องเครปให้อาสาสมัครผู้ใหญ่มองหาภาพที่ถูกซ่อนรอบทางแยกนี้ โดยสามารถบอกใบ้เกี่ยวกับภาพได้)

หลังจากเล่นครบ 3 คนแล้ว น้องเครปอธิบายความหมายของกิจกรรม ดังนี้

“สำหรับกิจกรรมนี้ หนูอยากสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ปลอดภัยที่พวกหนูและเพื่อน ๆ ต้องเผชิญกับอันตรายเมื่อต้องเดินเท้าในบริเวณที่มีทางแยก ทางโค้ง พวกหนูต้องคอยสังเกต และคอยหลบรถที่อาจเฉี่ยวชนระหว่างเดินเท้าได้ หนูจึงอยากเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ใจดี ช่วยเพิ่มป้ายสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ป้ายเตือนเขตโรงเรียน ป้ายชะลอความเร็ว กระจกมองมุม หรือสัญญาณไฟ เพื่อช่วยให้หนู และเพื่อน ๆ ในกรุงเทพมหานครอีกหลายโรงเรียนที่ต้องเดินเท้าผ่านเส้นทางแบบนี้ทุกวันค่ะ ขอบคุณค่ะ”


สถานีที่ 3 หลบให้ไว ฟังให้ดี โดย ด.ช.ปัณณวัฒน์ วงศ์เกียรติแก้ว (น้องปลื้ม) ป.5/1

“สวัสดีครับ ผม ด.ช. ปัณณวัตน์ วงศ์เกียรติแก้ว ชั้น ป.5/1

ขอต้อนรับเข้าสู่สถานีที่ 3 หลบให้ไว ฟังให้ดี ผมขอเชิญชวนผู้ใหญ่ใจดี ร่วมสนุกกับกิจกรรมในสถานีของเราครับ”

(น้องปลื้มขออาสาสมัครผู้ใหญ่ใจดีร่วมสนุก 1 ท่าน)

“กติกาของเกมนี้ คือ ให้ท่านเดินผ่านอุปสรรคที่วางไว้ ไปสู่ปลายทางอย่างปลอดภัย

  1. ให้ท่านปิดตาด้วยผ้าเช็ดหน้า แล้วหมุนรอบตัวเอง 3 ครั้ง
  2. ให้ท่านฟังคำแนะนำจากเพื่อน ๆ ของผม แล้วพยายามเดินตามเส้นทางให้ถูกต้อง”

(ระหว่างที่อธิบาย น้องปลื้มเดินให้ดูเป็นตัวอย่าง 1 รอบ)

หลังจากเล่นครบแล้ว น้องปลื้มอธิบายความหมายของกิจกรรม ดังนี้

“สำหรับกิจกรรมนี้ ผมอยากสะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากในการเดินเท้าของเด็ก ๆ โรงเรียนวัดทองศาลางาม และเพื่อนนักเรียนในอีกหลายโรงเรียน ที่ต้องใช้เส้นทางเดินเท้าร่วมกับรถยนต์ หรือรถมอเตอร์ไซค์ในชุมชน ทำให้พวกผมต้องคอยหลบหลีกรถซ้ายที ขวาที เพื่อความปลอดภัยในการเดินเท้า ผมอยากเรียกร้องให้มีการแบ่งขอบเขตสำหรับทางเท้า ทางรถ ที่ชัดเจน เพื่อความปลอดภัยร่วมกันในการใช้เส้นทางในชุมชนครับ ขอบคุณครับ”

หลังจากที่ผ่านด่านครบทั้ง 3 สถานี ตัวแทนนักเรียน ได้แก่ ด.ญ.อภิญญา ไทยอุดม (น้องอิง) ป.6/1 และ ด.ญ.สกุลนี กิ่งคา (น้องพิม) ป.6/1 ได้มอบข้อเรียกร้อง 3 ข้อ แก่ท่านประธานและผู้ใหญ่ทุกท่าน ดังนี้

  • ข้อ 1. หนูอยากให้บริเวณโดยรอบโรงเรียน มีทางเท้า หรือทางสำหรับเดินเท้า ให้พวกหนูได้เดินไป-กลับโรงเรียนอย่างปลอดภัย และก็อยากให้รถขับช้า ๆ ใช้ความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เด็กจะได้ไม่เสี่ยงถูกรถเฉี่ยวชนขณะเดินเท้าและข้ามถนน
  • ข้อ 2. หนูอยากให้บริเวณโดยรอบโรงเรียน มีสัญลักษณ์ความปลอดภัย เช่น ทางม้าลาย ทางข้ามถนนที่ข้ามได้อย่างปลอดภัยจริง ๆ ป้ายชะลอความเร็ว ป้ายเตือนเขตโรงเรียน กระจกโค้ง ลูกระนาด สัญญาณไฟ หรือสัญลักษณ์อื่น ๆ ให้พวกหนูได้เดินไป-กลับโรงเรียนอย่างปลอดภัย
  • ข้อ 3. หนูอยากให้บริเวณโดยรอบโรงเรียน มีทางจักรยานให้เพื่อน ๆ ได้ขี่จักรยานมาโรงเรียนอย่างปลอดภัย

จากข้อเรียกร้องดังกล่าว ท่านประธานได้ให้ความสำคัญและตอบรับจะนำข้อเรียกร้องของเด็กไปพิจารณาหาแนวทางแก้ไขในเชิงบูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงฝ่ายเทศกิจสำนักงานเขตภาษีเจริญ สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ ผู้นำชุมชน อื่น ๆ ที่ต่างก็ตอบรับไปในแนวทางเดียวกัน อีกทั้งชื่นชมในความคิดสร้างสรรค์และความกล้าแสดงออกของเด็ก

นอกจากนี้ทาง Safe Kids Thailand ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก จะนำข้อสรุปจากการจัดกิจกรรม นำเสนอต่อท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อรับทราบและมอบนโยบายหรือแนวทางสนับสนุนการแก้ไขจุดเสี่ยงเดินเท้าของนักเรียนโรงเรียนวัดทองศาลางาม รวมถึงขยายผลสู่สถานศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานครที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันต่อไป

ในช่วงพักกลางวันของโรงเรียน ทีมงาน Safe Kids Thailand ได้มีกิจกรรมพิเศษให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยจากการเดินเท้าแก่นักเรียนทั้งโรงเรียน เป็นการปิดท้ายกิจกรรม


 

Facebook Comments