Thailand Walk to School Day 2018 วันเด็กเดินเท้าปลอดภัย : ขอทางเท้าปลอดภัยให้หนูเดินไปโรงเรียน ( 31 ม.ค.2561 )

งาน Thailand Walk to School Day 2018 วันเด็กเดินเท้าปลอดภัย : ขอทางเท้าปลอดภัย..ให้หนูเดินไปโรงเรียน 

วันพุธที่ 31 มกราคม 2561 เวลา 08.00-10.00 น. ณ โรงเรียนวัดช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร Safe Kids Thailand ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ร่วมมือกับโรงเรียนวัดช่องนนทรี กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย สนับสนุนโดย FedEx และ Safe Kids Worldwide จัดงาน Thailand Walk to School Day 2018 วันเด็กเดินเท้าปลอดภัย: ขอทางเท้าปลอดภัย..ให้หนูเดินไปโรงเรียน

ในวันพุธที่ 31 มกราคม 2561 เวลา 08.00-10.00 น. ณ โรงเรียนวัดช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนร่วมกันแสดงพลังว่าสามารถดูแลตัวเองในเรื่องเดินเท้าปลอดภัยได้ แต่ขอทางเท้าและสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยจากผู้ใหญ่ เพื่อจะได้เดินเท้าไปโรงเรียนอย่างปลอดภัยในทุกวัน  ตลอดจนเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลเส้นทางเดินเท้าให้เด็กได้เดินทางไปโรงเรียนอย่างปลอดภัย

ได้รับเกียรติจากรองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (นายเกรียงไกร จงเจริญ) เป็นประธานในงาน และมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 60 คน ประกอบด้วย โรงเรียนวัดช่องนนทรี (นำโดยนายยรรยง สุขเกษม ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้บริหาร คณะครู และตัวแทนนักเรียน 40 คน), สำนักงานเขตยานนาวา (นายสุทัศน์ รุจิณรงค์, ผู้อำนวยการ และนายคเน ยกชู, หัวหน้าฝ่ายโยธา), สถานีตำรวจนครบาลบางโพงพาง (รตอ.ธนู นิลสนธิ, รองสารวัตรจราจร และคณะ), สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร (นางโสรัจจะ มีทรัพย์มั่น, ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ), สำนักเทศกิจกรุงเทพมหานคร (นายวิโรจน์ ยิ่งสกุล, ผู้อำนวยการกองตรวจและปฏิบัติการพื้นที่ 1 และนายอนุรักษ์ เพ็งศรี, พนักงานเทศกิจ ส.1) สำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร (นายวัลลภ จันทร์หอม, นายช่างโยธาปฏิบัติงาน), บริษัท FedEx (คุณ Visut Punsukumtana, Senior Manager), สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ, ผู้อำนวยการ), คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (อ.ชาญณรงค์ ไวยพจน์, อาจารย์/วิศวกร), บริษัทนิปปอน (นายดิลก เลิศเกรียงไกรยิ่ง, ผู้เชี่ยวชาญด้านการดับเพลิงและวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย), ชุมชนร่วมพัฒนาวัดช่องนนทรี (นางเฉลิมศรี แดงเกิด, ประธานชุมชน และคณะกรรมการ), โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (Ext.เจมส์ ทิสยากร), บริษัท Weber Shandwick ประทศไทย ร่วมด้วย และ Safe Kids Thailand ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

สืบเนื่องจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ องค์การอนามัยโลกระบุว่าในแต่ละปีอุบัติเหตุทางถนนได้คร่าชีวิตเด็กไปจำนวนมาก เฉลี่ยวันละ 500 คน ผลการจัดอันดับรายงานการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วโลกปี พ.ศ.2558 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ของโลก และสูงเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มอาเซียน สถานการณ์ในประเทศไทยจากการศึกษาของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กพบว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุนำการตายของเด็กและเยาวชนไทย (อายุไม่เกิน 18 ปี) ประมาณ 2,000 รายต่อปี บาดเจ็บอีกกว่า 72,000 รายต่อปี

กลุ่มเด็กเดินเท้าจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงจากการถูกรถชน ในเส้นทางที่เด็กต้องเดินไป-กลับโรงเรียนหรือเส้นทางเดินไปตามที่ต่างๆ นั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งความเสี่ยงด้านพฤติกรรม เช่น ผู้ใหญ่มักประเมินความสามารถของเด็กสูงเกินไป เด็กยังขาดความชำนาญและความสามารถในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สภาพถนนไม่ดี รถขับด้วยความเร็วสูง มีรถมอเตอร์ไซค์ขึ้นไปขับบนทางเท้า มีร้านค้าหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า ไม่มีทางข้ามที่ปลอดภัยหน้าโรงเรียน ฯลฯ

กิจกรรมหลักในงาน ตัวแทนนักเรียนโรงเรียนวัดช่องนนทรีได้นำเสนอจุดเสี่ยงเดินเท้า จำนวน 8 จุด ที่มาจากการเดินสำรวจบริเวณเส้นทางที่เด็กเดินมาโรงเรียน แก่ประธานและหน่วยงานเกี่ยวข้องได้รับทราบถึงปัญหาความเสี่ยงต่อเด็กเดินเท้าที่พวกเขาต้องพบเจอทุกวัน ดังนี้


นักเรียนนำเสนอจุดเสี่ยงแก่ประธาน 

นักเรียนนำเสนอจุดเสี่ยงแก่ประธาน 

จุดเสี่ยงเดินเท้า จำนวน 8 จุด

“ จุดเสี่ยงเดินเท้าทั้ง 8 จุดบริเวณโรงเรียน ที่พวกเราช่วยกันสำรวจมาบอกผู้ใหญ่ใจดีนั้น พวกเราไม่ได้ต้องการที่จะต่อว่าหรือโทษใคร  เพียงแต่พวกเราเห็นว่าเป็นจุดเสี่ยงที่อาจทำให้เด็กๆ ได้รับบาดเจ็บขณะเดินเท้าและข้ามถนน จึงขอวิงวอนมายังผู้ใหญ่ใจดี ช่วยคิดช่วยแก้ไขให้ปลอดภัย เพื่อเด็กๆ จะได้เดินเท้าอย่างปลอดภัยและมีความสุขตลอดไป ”

ตัวแทนนักเรียนโรงเรียนวัดช่องนนทรี


1.หน้าประตูโรงเรียน  ปัญหาความเสี่ยง (ระบุโดยเด็ก) ” ทางเข้าโรงเรียน เป็นทางเข้าของคนเดินเท้าและรถที่มาส่งนักเรียน ”

ข้อเรียกร้อง (เสนอโดยเด็ก) ” หนูอยากให้โรงเรียนแบ่งเขตสำหรับทางเท้าและรถสำหรับเข้าโรงเรียนเพื่อให้พวกหนูปลอดภัยจากอุบัติเหตุหน้าโรงเรียน ”


2.ขับเร็ว ข้ามยาก

ปัญหาความเสี่ยง (ระบุโดยเด็ก) “ทางโค้งหน้าโรงเรียนเป็นจุดที่อันตรายมากเวลาหนูข้ามถนน เนื่องจากมีรถวิ่งผ่านไปมาตลอด และรถส่วนใหญ่ขับมาด้วยความเร็ว ถึงพวกหนูจะข้ามอย่างระมัดระวัง แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ ”

ข้อเรียกร้อง (เสนอโดยเด็ก) “หนูอยากขอร้องผู้ใหญ่ใจดีช่วยบอกให้รถชะลอความเร็ว หรือทำลูกระนาดและป้ายเตือนที่ชัดเจน หรือมีอาสาสมัครใจดีพาพวกหนูข้ามถนนอย่างปลอดภัย ”


3.ทางเท้าและที่จอดรถ

ปัญหาความเสี่ยง (ระบุโดยเด็ก) ” เส้นทางไปกลับบ้าน-โรงเรียนของหนู มีทางเท้ากับที่จอดรถเป็นทางเดียวกัน บางครั้งหนูต้องเดินเลี่ยงออกมาบนถนน บางครั้งหนูต้องคอยหลบรถที่สวนมา..แต่ไม่มีที่ให้หลบ ”

ข้อเรียกร้อง (เสนอโดยเด็ก) ” หนูอยากให้ผู้ใหญ่ใจดีช่วยทำพื้นที่สำหรับเดินเท้าให้หนู หนูจะได้เดินอย่างปลอดภัยมากขึ้น ”


4.ไม่มีทางเท้าที่ชัดเจน

ปัญหาความเสี่ยง (ระบุโดยเด็ก) ” ตลอดเส้นทางในชุมชนนี้ไม่มีทางเท้าที่ชัดเจน หนู เพื่อนๆ และน้องๆ ในโรงเรียนต้องใช้ทางเดินร่วมกับรถบนถนนในซอย ”

ข้อเรียกร้อง (เสนอโดยเด็ก) ” หนูอยากให้ผู้ใหญ่ใจดีแบ่งพื้นที่ทำทางเท้าที่ชัดเจน สำหรับให้หนู เพื่อนๆ และน้องๆ ได้เดินเท้าอย่างปลอดภัย ”


5.ไม่มีทางข้าม

ปัญหาความเสี่ยง (ระบุโดยเด็ก) ” เส้นทางเดินเท้าไป-กลับบ้านของหนู และเพื่อนที่อยู่ในซอย ต้องข้ามถนนไปมา ”

ข้อเรียกร้อง (เสนอโดยเด็ก) ” หนูอยากให้ผู้ใหญ่ใจดีช่วยทำทางข้าม หรือสัญญาณเตือนรถให้ระวังเวลาพวกหนูข้ามถนนให้ปลอดภัย ”


6.รถออกจากซอย

ปัญหาความเสี่ยง (ระบุโดยเด็ก) ” ในเขตชุมชนมีตรอกและซอยมากมายตลอดทาง บางครั้งก็ไม่รู้เลยว่าจะมีรถเข้าออกระหว่างที่กำลังเดินผ่านซอยนั้นหรือไม่ ”

ข้อเรียกร้อง (เสนอโดยเด็ก) ” หนูอยากให้ผู้ใหญ่ใจดีช่วยทำป้าย หรือสัญญาณเตือนรถให้ระวังเด็กเดินเท้า ”


7.สิ่งของบนทางเท้า

ปัญหาความเสี่ยง (ระบุโดยเด็ก) ” บนทางเดินในชุมชน มีสิ่งของวางไว้ตลอดทางเดิน มีร้านค้า สุนัข และอุจจาระตลอดทาง ทำให้พวกหนูต้องระวังเวลาเดินเท้ามากยิ่งขึ้น ”

ข้อเรียกร้อง (เสนอโดยเด็ก) ” หนูอยากให้ผู้ใหญ่ใจดีช่วยมาดูแลความสะอาด เก็บกวาดสิ่งของตลอดทางเท้าของพวกหนูในคนในชุมชนให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ”


8.ทางเท้าแคบ

ปัญหาความเสี่ยง (ระบุโดยเด็ก) ” บริเวณใกล้โรงเรียนมีฟุตบาทหรือทางเท้า แต่มีขนาดคับแคบเกินไป บางครั้งเมื่อต้องเดินสวนทางกัน ต้องเดินลงไปบนถนนที่มีรถเลี้ยวมาแล้วอาจมองไม่เห็น ถูกรถชนได้ ”

ข้อเรียกร้อง (เสนอโดยเด็ก) ” หนูอยากให้ผู้ใหญ่ใจดีช่วยทำสัญญาณเตือนรถให้ระวังเวลาพวกหนูเดินเท้า ”


แผนที่ 8 จุดเสี่ยง

ข้อเสนอจากเด็ก

จากจุดเสี่ยงทั้ง 8 จุดได้นำมาจัดกลุ่มปัญหาและจัดทำข้อเสนอ จำนวน 3 ข้อ โดยตัวแทนนักเรียนโรงเรียนวัดช่องนนทรีได้ขึ้นกล่าวและมอบข้อเสนอแก่ท่านประธานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณาหาทางแก้ไขให้ปลอดภัยมากขึ้น ดังนี้


1.ปัญหาไม่มีทางเท้าในเขตโรงเรียนและชุมชนที่ชัดเจน เด็กๆ ที่ต้องเดินเท้าไปโรงเรียน แต่ไม่มีพื้นที่ทางเท้าที่ชัดเจนสำหรับการเดิน เด็กๆ จึงต้องใช้เส้นทางเดินร่วมกันกับรถ เสี่ยงต่อการถูกรถเฉี่ยวชน

ข้อเสนอต่อประธาน ขอทางเท้าในเขตโรงเรียนและชุมชนที่ชัดเจน

2.ปัญหาขับรถเร็วในเขตโรงเรียนและชุมชน ในเขตโรงเรียนและชุมชน ควรใช้ความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่กลับพบว่ามีรถที่ขับเร็วเกินกว่าที่กำหนดในพื้นที่โรงเรียนและชุมชน เสี่ยงต่อการที่เด็กจะถูกรถเฉี่ยวชนขณะเดินเท้าและข้ามถนน

ข้อเสนอต่อประธาน ขอให้รถลดความเร็วในเขตโรงเรียนและชุมชน (ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

3.ปัญหาจอดรถรับส่งไม่เป็นระเบียบ บริเวณหน้าโรงเรียนช่วงเวลาเข้า-เลิกเรียน พบว่ารถที่มาจอดรับ-ส่งเด็กนักเรียนนั้นส่วนใหญ่จอดไม่เป็นระเบียบ เด็กอาจถูกเฉี่ยวชนได้จากความไม่เป็นระเบียบในการจอดรับส่งนี้ อีกทั้งมีร้านค้าตั้งขายบนถนนหน้าโรงเรียน กีดขวางทางเข้า-ออกโรงเรียน

ข้อเสนอต่อประธาน ขอให้จอดรถรับ-ส่งนักเรียนเป็นระเบียบ


ตัวแทนนักเรียนกล่าวและมอบข้อเสนอ

ท่านประธานตอบรับข้อเสนอของเด็ก

จากข้อเสนอดังกล่าวของเด็ก ท่านประธานได้ให้ความสำคัญและตอบรับข้อเสนอของเด็กไปพิจารณาหาแนวทางแก้ไขในเชิงบูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต่างก็ตอบรับไปในแนวทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น Safe Kids Thailand ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก สำนักงานเขตยานนาวา สำนักการศึกษา สำนักเทศกิจ สำนักการจราจรและขนส่ง สถานีตำรวจนครบาลบางโพงพาง ชุมชน นักวิชาการ รวมทั้งจะนำตัวอย่างโรงเรียนวัดช่องนนทรี ขยายผลความปลอดภัยเดินเท้าไปสู่โรงเรียนอื่นๆ ในสังกัดกรุงเทพมหานครอีกด้วย

นอกจากนี้ทางสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุโดย ผอ.พรหมมินทร์ กัณธิยะ จะนำข้อสรุปจากการจัดงานครั้งนี้นำเสนอในการประชุมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเพื่อให้เกิดการขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่นๆ ต่อไป


เด็กเดินเท้าปลอดภัย..เพราะผู้ใหญ่ใจดี

รายงานโดย น.ส.กรวิการ์ บุญตานนท์,

ผู้จัดการโครงการ Safe Kids Walk This Way


(รูปภาพจากเว็บไซต์ ปชส.กทม)

โพสต์โดย Walk This Way Thailand บน 1 กุมภาพันธ์ 2018

โรงเรียนวัดช่องนนทรี กทม

โพสต์โดย Walk This Way Thailand บน 24 มกราคม 2018

 


 

Facebook Comments