งานสัปดาห์ความปลอดภัยทางถนนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 5 : ทุกคนคือผู้นำความปลอดภัยทางถนน

งานสัปดาห์ความปลอดภัยทางถนนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 5 : ทุกคนคือผู้นำความปลอดภัยทางถนน

The 5th UN Global Road Safety Week: “leadership for road safety”

(วันที่ 5 มิถุนายน 2562) ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร – – Safe Kids Thailand ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร, FedEx, Safe Kids Worldwide, สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และภาคีเครือข่าย จัดงาน สัปดาห์ความปลอดภัยทางถนนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 5 : ทุกคนคือผู้นำความปลอดภัยทางถนน (The 5th UN Global Road Safety Week: “leadership for road safety”) เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้แสดงพลัง #SpeakUp และยื่น “ข้อเรียกร้องความปลอดภัยทางถนน” เพื่อวอนขอกรุงเทพมหานครและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เห็นความสำคัญและร่วมมือกันสร้างความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนทุกคนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

โดยมีนายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัดกรุงเทพมหานคร ให้เกียรติเป็นประธาน ตลอดจนภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนได้มาร่วมแสดงพลัง อาทิ สำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร, สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองบังคับการตำรวจจราจร, ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน, สมาคมวิจัยวิทยาการขนส่งแห่งเอเชีย (ATRANS), บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด, มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย, Save the Children, มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ตลอดจนชุมชนและโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้กิจกรรมได้รับการสนับสนุนจาก FedEx นำทีมโดยคุณพีระพัฒน์ ทะละวงศ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ พร้อมด้วยอาสาสมัคร

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก และผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เปิดเผยว่าในแต่ละปีอุบัติเหตุทางถนนได้คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนเฉลี่ยวันละ 500 คน ในประเทศไทยอุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตของเด็ก (แรกเกิด-14ปี) จำนวนกว่า 1,000 รายต่อปี สาเหตุหลักมาจากอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ (การขับขี่ก่อนวัย เมาแล้วขับ ขับเร็ว และไม่สวมหมวกนิรภัย) อุบัติเหตุรถยนต์ (ไม่ใช้ระบบยึดเหนี่ยวเด็กในรถหรือที่นั่งนิรภัย) อุบัติเหตุในกลุ่มเด็กเดินเท้าซึ่งจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงจากการถูกรถชนขณะเดินไปกลับบ้านและโรงเรียน พบการเสียชีวิตกว่า 200 รายต่อปี บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 รายต่อปี

นอกจากนี้จากข้อมูลรายงานสถานการณ์การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจาก 3 ฐานข้อมูล (กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด) ตั้งแต่ปี 2556-2560 พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีเด็กและเยาวชน (แรกเกิด-19 ปี) เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนรวม 17,634 ราย สาเหตุหลักมาจากอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์

จากสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ องค์การสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ทุกประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยทางถนนตามกรอบปฏิญญามอสโก จนนำไปสู่การประกาศให้ปี ค.ศ.2011-2020 (พ.ศ.2554-2563) เป็นทศวรรษแห่งการปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (Decade of Action for Road Safety)

โดยมีเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของทั้งโลกถึงร้อยละ 50 ในปี ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) และในปีนี้องค์การสหประชาชาติได้ประกาศกิจกรรมสัปดาห์รณรงค์ความปลอดภัยบนท้องถนน ภายใต้ชื่อ The 5th UN Global Road Safety Week: “leadership for road safety” เป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความปลอดภัยทางถนน รวมถึงเป้าหมาย SDG 3.63 เพื่อลดการเสียชีวิตจากการจราจรบนท้องถนนและการบาดเจ็บ 50% ในปี 2020 และ SDG เป้าหมาย 11.23 เพื่อให้การเข้าถึงระบบการขนส่งที่ปลอดภัย

ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการจัดงานในครั้งนี้ โดยเน้นสร้างความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในการสร้าง “ความปลอดภัยทางถนนในเด็กและเยาวชน” ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย โชว์พิเศษ Road Safety Hero ในจินตนาการของฉัน” โดยเด็กและเยาวชนจาก 8 ชุมชน/โรงเรียน, กิจกรรม #SpeakUp (#กล้าที่จะบอก) บอกเล่าความเสี่ยงทางถนนที่พบเจอ สื่อสารผ่านใบสัญลักษณ์รูปโทรโข่ง และ #SpeakUp บทบาทที่ตนเองสามารถทำได้เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน ที่เกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสื่อสารว่า #ทุกคนคือผู้นำความปลอดภัยทางถนน หมายถึงทุกคนมีส่วนช่วยทำให้เกิดความปลอดภัยทางถนนได้ ไม่ใช่แค่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ทั้งภาครัฐ หน่วยงานเกี่ยวข้อง และประชาชนควรร่วมมือกัน เช่น บทบาทประชาชน คนขับรถก็ช่วยขับรถให้ช้าลง โดยเฉพาะในเขตหน้าโรงเรียน ชุมชน หรือบริเวณที่มีการจำกัดความเร็ว ช่วยหยุดรถให้เด็กข้ามถนน, ไม่ใช้ทางเท้าผิดวัตถุประสงค์ (เช่น ไม่ขับมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า), สวมหมวกกันน็อกทุกครั้งที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์ (แล้วก็สวมหมวกกันน็อกให้เด็กด้วย) บทบาทภาครัฐ/หน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลจัดการให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของประชาชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีบูธนิทรรศการความปลอดภัยทางถนนจากหลายหน่วยงาน อาทิ Safe Kids Walk This Way, บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด, ATRANS, มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย และในช่วงท้ายของงาน ผู้แทนเด็กและเยาวชนได้รวมพลังมอบ “ข้อเรียกร้องความปลอดภัยทางถนน เพื่อวอนขอให้ทางกรุงเทพมหานครและทุกภาคส่วน เห็นความสำคัญและร่วมมือกันสร้างความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนต่อไป


 

Facebook Comments